เก็บตะวัน
: วิถีธรรมชาติอันสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์
โดย วิวัฒน์ ทัศวา
เพลง เก็บตะวัน
ศิลปิน อิทธิ พลางกูร
ศิลปิน อิทธิ พลางกูร
คำร้อง
ธนพล อินทฤทธิ์
"เก็บตะวันที่เคยส่องฟ้า
เก็บเอามาใส่ไว้ในใจ
เก็บเอามาใส่ไว้ในใจ
เก็บพลังเก็บแรงแห่งแสงยิ่งใหญ่
รวมกันไว้ให้เป็นหนึ่งเดียว
รวมกันไว้ให้เป็นหนึ่งเดียว
เก็บเอากาลเวลาผ่านเลย
สิ่งที่เคยผิดหวังช่างมัน
สิ่งที่เคยผิดหวังช่างมัน
หนึ่งตัวตนหนึ่งคนชีวิตแสนสั้น
เจ็บแค่นั้นก็คงไม่ตาย
เจ็บแค่นั้นก็คงไม่ตาย
ธรรมดาเวลาฟ้าครึ้มเมฆหม่น
พายุฝนอยู่บนฟากฟ้า
คงไม่นานตะวันสาดแสงแรงกล้า
ส่องให้ฟ้างดงาม
ส่องให้ฟ้างดงาม
หากตะวันยังเคียงคู่ฟ้า
จะมัวมาสิ้นหวังทำไม
จะมัวมาสิ้นหวังทำไม
เมื่อยังมีพรุ่งนี้ให้เดินเริ่มใหม่
มั่นคงไว้ดังเช่นตะวัน
มั่นคงไว้ดังเช่นตะวัน
ธรรมดาเวลาฟ้าครึ้ม
เมฆหม่น
พายุฝนอยู่บนฟากฟ้า
คงไม่นานตะวันสาดแสงแรงกล้า
ส่องให้ฟ้างดงาม
ส่องให้ฟ้างดงาม
หากตะวันยังเคียงคู่ฟ้า
เมื่อยังมีพรุ่งนี้ให้เดินเริ่มใหม่
เมื่อยังมีพรุ่งนี้ให้เดินเริ่มใหม่
มั่นคงไว้ดังเช่นตะวัน"
การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งต่างๆ
บนโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เที่ยงหรือ ที่เรียกว่า “อนิจจัง” ดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า “ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง” นั่นหมายความว่า การดำรงอยู่ ของสรรพสิ่งนั้นย่อมมีทั้งความสุข
ความสมหวัง และความทุกข์ อันเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าหมองขึ้นภายในจิตใจ
สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
บทเพลง
”เก็บตะวัน” ประพันธ์โดย ธนพล อินทฤทธิ์ เป็นบทเพลงที่ผู้ประพันธ์สร้างสรรค์ขึ้น
โดยการนำธรรมชาติ คือความเคลื่อนไหวของดวงตะวันและปรากฏการณ์ธรรมชาติคือ ท้องฟ้าและพายุฝนมาเป็นสัญญลักขณ์
(Symbol) แทนชีวิตมนุษย์ท่ามกลางความไม่เที่ยง
หรือความไม่แน่นอนได้อย่างกลมกลืนกันเป็นอย่างดี
เนื้อหาของเพลง
“เก็บตะวัน” ผู้แต่งเลือกสรรเอาดวงตะวันกับท้องฟ้าที่มีความสัมพันธ์กัน
มาเป็นสัญญลักขณ์แทนการดำรงชีวิตของมนุษย์ การดำรงชีวิตซึ่งมีความหวังและมีพลัง
เปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ ทางธรรมชาติ
คือการขึ้นลงของดวงตะวันที่เกิดข้นอยู่ตลอดเวลา
แม้ว่าบางครั้งดวงตะวันนั้นไม่ได้ส่องแสงสว่างให้กับท้องฟ้า
แต่อย่างไรก็ตามภายใต้ความมืดมิดของท้องฟ้านั้นก็ยังคงมีดวงตะวันขึ้นและลงเคียงคู่กันเสมอ
ในช่วงต้นผู้ประพันธ์เลือกเฟ้นคำที่สื่อให้เห็นถึงการรักษาและการรวบรวมไว้ให้คงอยู่
ด้วยการนำคำว่า “เก็บ” ซึ่งเป็นคำกริยาหมายถึง รวมไว้, รักษาไว้ โดยใช้ในลักษณะอธิพจน์หรือการกล่างเกินจริง
พยัญชนะต้นของคำว่า “เก็บ” เป็นพยัญชนะเสียง
/ก/ เป็นพยัญชนะเสียงกัก (Plosive) ที่ให้ความรู้สึกถึงความแข็งแกร่งและ มีพลัง ผู้ประพันธ์ใช้คำว่า “เก็บ” ติดกันถึง 5 ครั้ง
ได้แก่ “เก็บตะวันที่เคยส่องฟ้า
เก็บเอามาใส่ไว้ในใจ” , “เก็บพลัง เก็บแรงแห่งแสงยิ่งใหญ่” และ “เก็บเอากาลเวลาผ่านเลย”
อาการเก็บที่เป็นกริยาในบทเพลงนี้ ให้ความรู้สึกถึงการเก็บมารวบรวมไว้อย่างมั่นคง
ผู้แต่งใช้ “ตะวัน” เป็นสัญญลักขณ์ของความหวังและพลัง ของมนุษย์ การเก็บตะวันเป็นการกล่าวเกินจริง
(อธิพจน์) แต่มีความหมายโดยนัย คือ การเก็บเอาแรงและพลังของแสงตะวันที่เปรียบเหมือนกับการเก็บแรงและพลังของมนุษย์
มารวมกันไว้ในใจอย่างเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความมั่นคงและแข็งแกร่งให้กับจิตใจ
ผู้ประพันธ์แสดงทัศนะต่อมาว่า
“เก็บเอากาลเวลาผ่านเลย” เป็นการบ่งบอกถึงการเก็บรวบรวม ห้วงเวลาในอดีตและเก็บสิ่งต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตว่าเป็นการเก็บมารวมไว้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งขึ้น ในจิตใจ แม้ว่าสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้นจะทำให้ผู้กระทำผิดหวังก็ตาม
ผู้ประพันธ์แสดงทัศนะต่อการดำรงชีวิต
ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ฟังเห็นถึงความเป็นอนิจจังว่า “หนึ่งตัวตน
หนึ่งคนชีวิตแสนสั้น” ผู้ประพันธ์เลือกเฟ้นคำที่มีความหมายเดียวกันนั่นคือคำว่า
“ตัวตน” และ “คน”
มาใช้เพื่อย้ำให้เห็นถึงภาพของความเป็นมนุษย์แต่ละคนว่า
การคงอยู่นั้นไม่ยืนยาว พิจารณาจากคำว่า “แสนสั้น” สั้น เป็นคำที่ให้ความรู้สึกถึงความน้อยนิด ความไม่ยืนยาว
เมื่อผู้ประพันธ์นำมาประกอบกับคำว่า “แสน” ก็ยิ่งทำให้เกิดความรูสึกถึงความน้อยนิดไม่ยืนยาวเพิ่มขึ้น
การคงอยู่ของชีวิตมนุษย์นั้น เมื่อเทียบกับการคงอยู่ ของโลกนี้ ถือเป็นการดำรงอยู่ที่แสนสั้น
เพราะมนุษย์ต้องเกิดและดับไป ตามกฎอนิจจัง แต่โลกก็ยังคงอยู่
และรอรับการเกิดใหม่ของมนุษย์ต่อไป
ผู้ประพันธ์จึงแสดงความคิดเพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจในการดำรงชีวิต
ด้วยการกล่าวต่อไปว่า “เจ็บแค่นั้นก็คงไม่ตาย” ความเจ็บหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตอันแสนสั้นของมนุษย์
เป็นการเจ็บเพียง น้อยนิด
ไม่อาจสร้างแรงกระทบให้กับชีวิต ถึงขั้นต้องตาย ผู้ประพันธ์บรรยายต่อมา
ด้วยการเปรียบเทียบ ธรรมชาติกับชีวิตมนุษย์ โดยการเลือกใช้คำว่า “ธรรมดา” ที่บ่งชี้ความเป็นปกติของธรรมชาติ “ธรรมดาเวลาฟ้าครึ้มเมฆหม่น พายุฝนอยู่บนฟากฟ้า” แสดงให้เห็นธรรมชาติของท้องฟ้าที่ต้องพบเจอกับพายุและลมฝนอยู่เป็นปกติ
หากเปรียบกับชีวิตของมนุษย์ ก็เป็นชีวิตที่ต้องพบเจอกับอุปสรรค
เป็นธรรมดาเช่นกัน
ช่วงที่สองของบทเพลงผู้ประพันธ์กล่าวถึงสภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพายุฝน
ด้วยการบรรยายว่า “คงไม่นานตะวันสาดแสงแรงกล้า ส่งให้ฟ้างดงาม” ผู้ประพันธ์เลือกใช้คำว่า
“สาด” ซึ่งเป็นพยัญชนะเสียง /ส/ ที่จัดเป็นพยัญชนะเสียงเสียดแทรก
(Fricative) ให้ความรู้สึกถึงการแทรกซึมเข้ามาประสานกัน
แสงที่แทรกเข้ามาในท้องฟ้า เป็นเสมือนสัญญลักขณ์แทนกำลังใจ พลัง และสิ่งดีงาม
ที่เข้ามาในชีวิตหลังพบเจอกับอุปสรรค
สิ่งที่แทรกซึมหรือผ่านเข้ามานั้นช่วยให้ชีวิตงดงามและมีพลังที่จะสู้และก้าวเดินต่อไป
ฉะนั้นหากแสงสว่างมีนัยถึงกำลังใจและความดีงามที่แทรกซึมเข้ามา จึงอาจตีความได้ว่า
ท้องฟ้า ในบทเพลงนี้คือสัญญลักขณ์ของชีวิตมนุษย์
ที่ได้รับผลจากการสาดแสงหรือการเทรกซึมเข้ามาของกำลังใจและ ความดีงาม และอาจตีความกลับไปในเนื้อเพลงวรรคก่อนหน้าว่า
“ธรรมดาเวลาฟ้าครึ้ม เมฆหม่น พายุฝนอยู่บนฟากฟ้า” พายุฝนและเมฆสีหม่น คือสัญญลักขณ์แทนความผิดหวังและอุปสรรคของชีวิตมนุษย์
ความไพเราะและเนื้อหาของบทเพลงมิได้มีเพียงโวหารภาพพจน์เท่านั้น
แต่หากวิเคราะห์วรรณศิลป์ในแง่การเล่นเสียงและเล่นคำก็พบว่า มีความโดดเด่นอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการเล่นเสียงทั้งเสียงพยัญชนะและสระในการประพันธ์บทเพลงตลอดทั้งเพลง
เช่น “เก็บเอามาใส่ไว้ในใจ” เป็นการเล่นเสียงสัมผัสสระไอ ในคำว่า-ใส่-ไว้-ใน-ใจ
การเล่นเสียงสัมผัสสระแอและตัวสะกดเสียง /ง/ ในวรรค “เก็บพลังเก็บแรงแห่งแสงยิ่งใหญ่”
และในวรรค “เก็บเอากาลเวลาผ่านเลย” กับ “พายุฝนอยู่บนฟากฟ้า”
เป็นการเล่นเสียงสระอา ตัวสะกดเสียง /น/ กับเล่นเสียงสระโอะ ตัวสะกดเสียง /น/
ตามลำดับ เป็นต้น
การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะ
เช่น “คงไม่นานตะวัน สาดแสงแรงกล้า” ผู้ประพันธ์เล่นเสียงพยัญชนะ /ส/
ในคำว่า สาดและแสง ซึ่งให้ภาพของการแผ่รังสีอันกล้าแข็งของดวงตะวัน และ “หากตะวันยังเคียงคู่ฟ้า”
เป็นการเล่นเสียงพยัญชนะ /ค/ ในคำว่า เคียง กับ คู่ เป็นต้น
นอกจากการเล่นเสียงสระและพยัญชนะที่สร้างความไพเราะงดงามให้แก่บทเพลง
เก็บตะวัน ได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว
กลวิธีการเล่นคำก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ผู้ประพันธ์นำมาใช้ในการประพันธ์เพื่อสื่อสารความหมายแก่ผู้ฟัง
เช่น การเล่นคำซ้ำ ในคำว่า “เก็บ” ที่ผู้ประพันธ์ใช้ในบทเพลงมากถึง 5 ครั้ง
ในเนื้อเพลงช่วงแรก คือ “เก็บตะวันที่เคยส่องฟ้า” “เก็บเอามาใส่ไว้ในใจ”
“เก็บพลังเก็บแรงแห่งแสงยิ่งใหญ่” และ “เก็บเอากาลเวลาผ่านเลย”
การใช้คำซ้ำในบทเพลงนี้เป็นการเน้นให้เห็นการกระทำที่เป็นการรวบรวมเอามาไว้ว่ามีความสำคัญยิ่งใหญ่ต่อผู้กระทำมากเพียงใด
หรือในวรรค “หนึ่งตัวตนหนึ่งคนชีวิตแสนสั้น” ผู้ประพันธ์ย้ำให้เห็นความเป็นตัวตนที่ไม่ได้เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กัน
แต่เป็นชีวิตหรือตัวตนของแต่ละบุคคล ว่ามีชีวิตที่ไม่ยืนยาวเลยแม้แต่น้อย
บทเพลง
“เก็บตะวัน” นับเป็นบทเพลงที่มีคุณค่าด้านเนื้อหาโดยมีแนวคิดที่มุ่งแสดงให้เห็นถึง
สัจธรรมของชีวิตและความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ ที่จะต้องประสบกับความสุข ความทุกข์
ปัญหาและอุปสรรคนานัปการ แต่ถึงกระนั้นชีวิตก็มิได้จมปรักอยู่กับความทุกข์ความหมดหวังเสมอไป แต่ยังมีโอกาสที่จะก้าวเดินต่อไปเพื่อค้นหาความสุขสมหวังในชีวิต ดังในช่วงสุดท้ายของบทเพลง
ที่ผู้ประพันธ์ใช้ความสัมพันธ์ของดวงตะวันและท้องฟ้า
ที่ยังคงอยู่คู่กันเสมอ โดยการเปรียบเทียบว่า ตราบใดที่ดวงตะวันยังคงขึ้น-ลง
เคียงคู่กับฟ้า ชีวิตของคนเราก็ยังคงมีความหวังและมีโอกาสในการสู้ต่อเพื่อความอยู่รอดของชีวิตต่อไปเช่นกัน
เพียงแค่มนุษย์ มีความมั่นคงหนักแน่น มีพลังและมีกำลังใจเหมือนกับดวงตะวันที่มั่นคงต่อการสาดแสงส่องความสว่างไสวให้กับท้องฟ้าตราบนิจนิรันดร์
กล่าวได้ว่า
“เก็บตะวัน” เป็นบทเพลงที่มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์และมีกลวิธีการประพันธ์ที่สื่อความหมายอย่างประสานลงตัวไปกับเนื้อหาของเพลงได้อย่างดีเยี่ยมและเป็นบทเพลงที่ผู้อ่าน-ผู้ฟังจะได้รับทั้งการกระตุ้นปัญญาและความคิดจากเนื้อหาของเพลงไปพร้อมๆ
กับการได้รับความเพลิดเพลินจากความไพเราะงดงามอันเป็นผลจากการเลือกเฟ้นถ้อยคำในการประพันธ์ของผู้ประพันธ์บทเพลงนี้
๛