วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แรงคลื่น : ความเจริญที่ควบคุมไม่ได้ คืออันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์

 
     แรงคลื่น : ความเจริญที่ควบคุมไม่ได้ คืออันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์

      วิวัฒนาการของวรรณกรรมปัจจุบันทั้งรูปแบบและเนื้อหามีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม เนื่องจากตั้งแต่วรรณกรรมยุคเริ่มแรก เมื่อราวปี พ.ศ. 2443 กระทั่งมีวิวัฒนาการมาถึงยุควรรณกรรมเพื่อประชาชนอย่างในปัจจุบันนี้ต่างก็มีรูปแบบและเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยกันทั้งสิ้น

       เรื่องสั้น นับเป็นวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในวงการนักอ่านและนักเขียนทั้งนี้ด้วยความก้าวหน้าทั้งรูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรมทำให้วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นได้รับความนิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเรื่องสั้นเป็นวรรณกรรมที่เสนอความคิดได้กะทัดรัด กระจ่างชัดตรงเป้าหมายกว่าเรื่องยาว และนอกจากเรื่องสั้นจะให้ความบันเทิงเริงใจแล้ว ยังเป็นวรรณกรรมที่รวมทั้งเนื้อหาสาระ ข้อคิด และทัศนคติต่างๆ แก่ผู้อ่าน
          อย่างไรก็ตามหน้าที่สำคัญของเรื่องสั้นที่จะมิกล่าวถึงเสียมิได้คือ การจดบันทึกความเป็นไปของยุคสมัยใดสมัยหนึ่งเอาไว้เป็นข้อคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อสังคม ทั้งยังเป็นข้อมูลหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ภาวะสังคมในยุคสมัยนั้น เป็นการเรียนรู้อย่างลงลึกและซึมซับ เพราะศิลปะแห่งเรื่องสั้นทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การจดบันทึกไว้ทั้งเรื่องราว เหตุการณ์และอารมณ์ความรู้สึก สาเหตุที่กล่าวมายืดยาวนี้ไม่ใช่จะเพียงจะอธิบายว่าเรื่องสั้นนั้นคืออะไร แต่เนื่องจากหนังสือที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้มีลักษณะของเรื่องสั้นดังที่กล่าวมาข้างต้นอยู่พอสมควร
          ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป นิตยสารรวมเรื่องสั้นรายฤดูกาล ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นาคร เมื่อปี พ.ศ. 2549 นับเป็นนิตยสารรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งที่จัดทำขึ้นด้วยการรวมรวมเรื่องสั้นที่มีคุณภาพไว้ โดยพิจารณาถึงเป้าหมายประการหนึ่งของเรื่องสั้นว่า เรื่องสั้นทำหน้าที่บันทึกสังคม
          “แรงคลื่น” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวน 15 เรื่อง ในนิตยสารรวมเรื่องสั้นชื่อ ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป ของอนุสรณ์ มาราสา นักเขียนชาวจังหวัดสตูลผู้สร้างสรรค์งานเขียนอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องสั้น “ครั้งเดียวไม่เคยรัก” เมื่อปี พ.ศ. 2536 และผลงานรวมเรื่องสั้นเจ้านกบินหลา (2538) คลื่นไม่เคยลาฝั่ง (2539) และ เด็กปอเนาะ ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดวรรณกรรมเยาวชน ของสำนักพิมพ์ ต้นอ้อ ในปี พ.ศ. 2540  เรื่องสั้น “แรงคลื่น” ของ อนุสรณ์ มาราสา เลือกใช้วัสดุในการดำเนินเรื่องอย่างน่าค้นหา โดยการใช้อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเชื่อมโยง เปรียบเทียบกับแรงคลื่นชนิดต่างๆ รวมทั้งแรงคลื่นธรรมชาติลูกใหญ่  ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ได้อย่างโดดเด่น ด้วยการตีแผ่ความเป็นจริงในสังคมที่สอดคล้องไปกับฉาก แวดล้อมทางสังคมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนวิธีคิดของมนุษย์และผลกระทบของความเจริญทางวัตถุ หรือที่เรียกว่า ทุนนิยม” ที่เห็นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ นำเสนอความโลภและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์กับการเรียกร้องเพื่อครอบครองผลประโยชน์ที่คิดว่าตนควรจะได้
          เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงสุไลมาน ชายหนุ่มที่พยายามเรียกร้องสิ่งที่ตนคิดว่าไม่เป็นธรรมสำหรับตนเอง คือ เรื่องมรดกที่ผู้เป็นบิดาแบ่งให้ตนก่อนจะเสียชีวิต ด้วยการใช้สภาพอารมณ์ที่โดดเด่น คือ “ความโกรธ”      เป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง
          “ผมไม่ชอบเลย มันเป็นของน่าละอาย มากกว่าเชิดหน้าชูตาให้ผู้เป็นเจ้าของ” (อนุสรณ์            มาราสา : 225) อนุสรณ์ ได้เปิดประเด็นความขัดแย้งของเรื่องด้วยการให้ความรู้สึกที่กึกก้องอยู่ในใจของ     สุไลมาน ตัวละครที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องของตัวเอง ความไม่พอใจใน “เรือนไม้ชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ราคาไม่กี่ตังค์” ทรัพย์สินที่บิดามอบไว้ให้ก่อนเสียชีวิต แต่เขาก็จำต้องรับมันด้วยเหตุว่าเป็นธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา “บ้านโบราณ” อาจเป็นตัวแทนของบิดาผู้ล่วงลับ ที่ทิ้งไว้เพียงความหวังและคำสอนว่า ให้พี่น้องรักและพึ่งพาอาศัยกัน  แต่ท้ายที่สุดความไม่พอใจในสิ่งที่ตนได้รับและความต้องการทรัพย์สินที่มีค่าของ       สุไลมาน ก็ทำลายความเชื่อและความเคารพในคำพูดของบิดา ด้วยความคิดจะขายบ้านโบราณหลังนั้นรวมทั้งทรัพย์สินทั้งหมดและเอาเงินมาแบ่งกับพี่ชาย ถึงตอนนี้ความเคารพในคำพูดและคำตัดสินที่ต่างถือว่าเป็นวาจาสิทธิ์” ของบิดา ได้ยุติลงจากจิตใจของสุไลมานจนหมดสิ้น ความโลภก่อตัวขึ้นแทนที่และกลายเป็นความโกรธที่มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น
          ความโกรธ ของสุไลมาน ปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เขาทราบว่า บิดาจะยกที่ดินติดถนนและโรงแรม ให้กับพี่ชาย เพราะเขารู้ดีว่าวันหนึ่งเจ้าของโรงแรมต้องมาขอซื้อเพื่อขยายกิจการในราคาแพงลิบลิ่ว “เอาเปรียบกันชัดๆ ผมตะโกนลั่นในใจ หากแต่เก็บงำความไม่พอใจอยู่ในใจไม่แพร่งพราย” (อนุสรณ์            มาราสา : 226) “ผมอยากหัวเราะดังๆ ดินที่อ่าวต้นนุ่นที่ป๊ะว่านั้น มันเป็นดินเปล่าไม่มีอนาคต อีกนานกว่านักธุรกิจที่ดินจะต้องการ ขาดๆ เกินๆ ที่ว่า บังและป๊ะกำลังเอาเปรียบผมอยู่โทนโท่” (อนุสรณ์             มาราสา : 226) การไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินมีค่าที่ควรจะได้ ทำให้มนุษย์รู้สึกว่า “เป็นความขาดทุนเสียหาย เสียเปรียบ” หากลองคิดใคร่ครวญในแนวศาสนาโดยมิเจาะจงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ก็จะพบว่าไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา คริสตศาสนา อิสลาม ซิกซ์ หรือศาสนาใดๆ ล้วนแต่มุ่งทำลายความเห็นแก่ตัวในตัวมนุษย์ทั้งสิ้น การที่สุไลมานรู้สึกว่าตนถูกพี่ชายเอาเปรียบ และมองว่าพี่ชายเป็นผู้เห็นแก่ตัว ชี้ให้เห็นว่า ในที่สุดมนุษย์ก็มิได้นำแนวทางของศาสนามาใช้ คือการทำลายความเห็นแก่ตัว แต่กลับเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นของขาดทุนเสียหายสำหรับตน เพราะคิดว่าหากเราไม่เห็นแก่ตัวเราก็จะเสียเปรียบ คนที่เห็นแก่ตัวเขาก็ได้เปรียบได้ประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่ความคิดว่า “ไม่มีใครกล้าที่จะไม่เห็นแก่ตัว” ฉะนั้นสิ่งที่อนุสรณ์ พยายามนำเสนอผ่านอารมณ์และมุมมองของสุไลมานตอนนี้คือ เพื่อให้มนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ รู้จักกับศัตรูตัวฉกาจของจิตใจที่จะนำไปสู่ความโลภ สิ่งนั้นคือ “ความเห็นแก่ตัว” นั่นเอง
          “อุวะ แล้วทำไมไม่พูดตอนป๊ะอยู่เล่า? มาพูดตอนนี้แล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ป๊ะอุตส่าห์ส่งแกไปเรียนปอเนาะสามปีตามที่แกอยากเรียน กลับมายังงกอยู่กับเรื่องสมบัติ ป๊ะรู้จะเสียใจขนาดไหน เรียนศาสนาเสียเปล่า แต่มีความคิดเป็นเด็กอมมือ...(อนุสรณ์ มาราสา : 229) แม้มนุษย์จะได้รับการศึกษาสูงเพียงไร การศึกษาก็มิได้ขัดเกลาให้กิเลส ความโลภ และความเห็นแก่ตัวลดลงจากจิตใจมนุษย์เลย เมื่อจิตใจของมนุษย์ถูกครอบงำด้วยอำนาจของความเจริญทางวัตถุในสังคมหรือ วัตถุนิยม” ก็เสมือนฟืนไม้เชื้อเพลิงอย่างดีที่สุมไฟแห่งกิเลส ความโลภและความเห็นแก่ตัวในจิตใจมนุษย์ให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ลุกลามและเผาผลาญจิตอันสงบ ปราศจากกิเลสและความเห็นแก่ตัวจนมอดสิ้น ยิ่งมนุษย์มีการศึกษาสูงเท่าใด ความเจริญทางวัตถุก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อความเจริญทางวัตถุสูงขึ้นเท่าใด ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์โลกก็ย่อมเพิ่มขึ้นเท่านั้นเช่นกัน           ด้วยอำนาจของสังคมระบบ “ทุนนิยม” ที่เป็นตัวกำหนดระดับกิเลสในจิตใจของมนุษย์ เพราะยิ่งวัตถุเจริญไปเท่าไร ก็ยั่วยวนให้มนุษย์ขวนขวายเพื่อการครอบครองสรรพสิ่งบนโลกเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในที่สุด            ก็กลายเป็นความละโมบโลภมาก มุ่งแต่จะกอบโกย แก่งแย่งแข่งขันกัน และเมื่อมนุษย์ต่างแก่งแย่งกันเพื่อให้ตนได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนาจะครอบครองเพื่อสนองวามต้องการของตนเอง เมื่อนั้นความสันติสุขและสันติภาพก็จะเลือนหายไปจากสังคม
          “ผมสั่นเทิ้มด้วยความโกรธ พี่น้องฆ่ากันได้เพราะแย่งสมบัติ ผมได้ยินเสียงนั้นแว่วมาแต่ไกล ไม่นึกเลยว่าจะมาประสบด้วยตัวเองสักวัน” (อนุสรณ์ มาราสา : 229)
          “แววตาของพี่ชายร่วมสายเลือดของผมเหมือนศัตรูคู่แค้น หาใช่พี่น้องคลานตามกันมาไม่” (อนุสรณ์  มาราสา : 228)
          นายหน้าที่ดินสองคนที่เดินออกจากบ้านพี่ชายของสุไลมาน กับคนในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยที่เลือกขายที่ดิน เพื่อปรับตัวในกระแสการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวแทนของ “ระบบทุนนิยม” และผู้ยอมรับในระบบสังคมดังกล่าว ระบบสังคมที่มนุษย์เห็นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ระบบสังคมที่ทำลายความสงบสุขและสันติภาพ แล้วนำไปสู่การแย่งชิงเพื่อการครอบครองทรัพย์สินเงินทองและวัตถุที่ต้องการ พี่น้องที่เกือบฆ่ากันตายเกิดขึ้นเพราะใจมนุษย์กระหายอยากวัตถุที่เจริญเหล่านั้น เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง อนุสรณ์ พยายามชี้ให้เห็นว่าเมื่อความเจริญทางวัตถุมีมากขึ้น สันติสุข และสันติภาพ จะยิ่งเลือนหายไปจากสังคม ในที่สุดก็จะเกิดการสู้รบการแก่งแย่งกัน ความเจริญจึงกลับกลายมาเป็นอุปกรณ์ของอาชญากรรมทำลายความสงบสุขในสังคม ฉะนั้น ศัตรูอันฉกาจของมนุษย์คือ กิเลส ความโลภ อันเกิดจากความเจริญทางวัตถุที่เรายับยั้งมันไม่ได้นั่นเอง
          ประโยคสำคัญในความคิดของสุไลมานว่า
          “สามปีเต็มๆ ในปอเนาะ ได้สอนอะไรให้ผมบ้าง หากไม่ใช่เรื่องราวการมีชีวิตอยู่ก่อนที่ชีวิตจะสิ้นลมปราณ นอกจากปฏิบัติศาสนกิจกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่จะให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และญาติพี่น้องต้องเป็นคนแรกๆที่เราต้องกระทำ ผมทิ้งตำรานั้นไปอยู่เสียที่ไหน?”(อนุสรณ์ มาราสา : 223) ประโยคดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความเจริญทางวัตถุ คือเครื่องกระตุ้นกิเลส ความโลภ และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้หายไปเสียแล้วจริงๆ ทิ้งไว้เพียงร่องรอยความขัดแย้งระหว่างพี่น้องที่สุไลมานคิดว่าไม่สมควรให้อภัย นับเป็นอีกหนึ่งประโยคที่แสดงแนวคิดอันชัดเจนของอนุสรณ์ ก็กล่าวได้
         นัยเชิงสัญลักษณ์ : ความโกรธ ดั่ง แรงคลื่น
          ลักษณะที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือ สภาพอารมณ์ของตัวละครผู้เล่าเรื่องอย่าง  สุไลมาน ที่อนุสรณ์บรรจงสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ สภาพอารมณ์โกรธ ปรากฏในเรื่องอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่อง โดยการนำ “คลื่น” ที่ซัดเข้าหาฝั่งด้วยความคุ้มคลั่งอย่างไม่ลดละมาเป็นสัญลักษณ์แทนสภาพอารมณ์โกรธของสุไลมาน เช่น             คลื่นบ้าก่อตัวขึ้น คลื่นนี้ไม่สงบลงง่ายๆหรอก...” (อนุสรณ์ มาราสา : 229)
          “ผมเห็นคลื่นแห่งความโกรธกำลังก่อตัวขึ้นมา เป็นคลื่นสีดำยอดสูงที่พร้อมกระหน่ำซัดสาดสิ่งที่กีดขวางเบื้องหน้าให้เรียบ...” (อนุสรณ์ มาราสา : 231)
           “คำพูดของก๊ะสะใภ้ที่พรั่งพรูออกมา ราวกับเป็นเขื่อนกั้นกระแสคลื่นโกรธของผมได้ชั่วขณะหนึ่ง” (อนุสรณ์ มาราสา : 232)
           สภาพอารมณ์โกรธของสุไลมานที่ใช้ “แรงคลื่น” เป็นสัญลักษณ์ ชี้ให้เห็นว่า “อำนาจของแรงคลื่น ดั่งแรงแห่งความโกรธที่เกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัว ความโลภ และความเจริญทางวัตถุ” ยังผลให้ความโกรธนั้นทรงพลังอำนาจยิ่งกว่าแรงคลื่นอื่นใด และก่อตัวเป็นคลื่นแห่งอารมณ์ที่ยิ่งใหญ่มาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องให้ถอยห่างออกจากกัน
          แต่แล้วในที่สุด คลื่นบ้า คลื่นความโกรธ และคลื่นอารมณ์ ของสุไลมานที่ก่อตัวขึ้นอย่างมีพลังอำนาจพร้อมทำลายล้าง ค่อยๆ สงบลง เมื่อสุไลมานทราบความจริงว่าพี่ชายที่ตนสาดคลื่นอารมณ์ใส่อย่างหนักหนานั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้ส่งเสียตนเรียนจนจบปอเนาะ ถึงตอนนี้คลื่นอารมณ์ในใจของสุไลมานได้สงบลงแล้ว เขามีโอกาสได้ทบทวนเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นอีกครั้ง กระทั่งเขาค้นพบถึงสิ่งที่เขาต้องทำต่อไปนั่นคือ การขอยกโทษจากพี่ชายผู้แสนดีและ “การสารภาพผิดกับองค์อัลลอฮ์ ผู้ทรงเห็นในสิ่งที่เปิดเผยและเร้นลับ ให้พระองค์ได้ยกโทษแก่ความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับพี่ชายร่วมสายเลือด” (อนุสรณ์ มาราสา : 232-233) จังหวะของเรื่องดำเนินไปอย่างช้าๆ ฉากหรือแวดล้อมของตัวละครคือสุไลมาน ต่างอยู่ในความสงบนิ่ง อารมณ์ของเขาเย็นลงอย่างไม่น่าแปลกใจ เขาได้คิดทบทวนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาพความทรงจำในวัยเด็กของเขากับพี่ชายเคลื่อนผ่านเข้ามาในห้วงคำนึงของสุไลมาน
          กระทั่งจังหวะของเรื่องได้ดำเนินขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสุไลมานพาตัวเองหลุดออกจากห้วงคำนึงเหล่านนั้น แล้วเร่งฝีเท้าเดินลงจากเนินทรายไปยังท่าเรือที่พี่ชายมักมาขึ้นฝั่ง การดำเนินเรื่องเพิ่มระดับความเร็วขึ้นอีกระลอก เมื่อสุไลมานต้องพบกับผู้คนที่ต่างวิ่งสวนทางตนออกมาอย่างอลม่าน พร้อมกับคำบอกเล่าอย่างตกใจและเหนื่อยหอบว่ามีคลื่นใหญ่เกิดขึ้นที่ท่าเรือ ในที่สุดคำขอโทษของสุไลมานก็สายเกินไปเสียแล้ว พี่ชายของเขา อยู่ในสภาพของร่างที่ไร้วิญญาณ           คลื่นยักษ์ได้ทำลายท่าเรือ บ้านเรือน ร้านค้า และเรือพังเสียหาย คลื่นยักษ์ได้คร่าชีวิตผู้คนเคราะห์ร้ายไปหลายชีวิตรวมทั้งพี่ชายของสุไลมานด้วย และที่สำคัญคือคลื่นยักษ์ได้ชะล้าง กลืนกิน “คำขอโทษ ของ
สุไลมานที่จะมอบแก่พี่ชายของเขา ลงไปในทะเลด้วยเช่นกัน          ในเวลานี้ สัญลักษณ์ที่อนุสรณ์แทนใช้แทน ความโกรธ คือคลื่นชนิดต่างๆ ในจิตใจของสุไลมาน ได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง กลับกลายเป็นคลื่นยักษ์สึนามิที่สาดซัดทำลายสิ่งต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้า รวมทั้งพี่ชายของสุไลมานด้วย และแล้วความโกรธของสุไลมานก็ได้คร่าชีวิตพี่ชายที่แสนดีของเขาเองในที่สุด
          อนุสรณ์ ใช้ “คลื่นสึนามิ” เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจการทำลายล้างของความโกรธ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว และอำนาจของระบบทุนนิยม ระบบของความเจริญทางวัตถุ ที่เข้าทำลายล้างทุกอย่างให้หายไปในชั่วพริบตา ทั้งทรัพย์สินที่มนุษย์พยายามแย่งชิงกัน ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จนอาจเป็นคำตอบให้กับสุไสมานต่อคำถามที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงคลื่น นี่มันเป็นแรงคลื่นชนิดใดกัน ที่ได้สร้างความหายนะได้เช่นนี้?” (อนุสรณ์ มาราสา : 234) คำตอบคือ คลื่นอารมณ์และคลื่นพลังอำนาจทางจิตใจในความโลภ การแย่งชิงและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์อย่างเขานั้นเอง
          “แรงคลื่น” เสมือนเงาสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบของวิธีคิดแบบทุนนิยม ที่ความเจริญทางวัตถุ เข้ามากำหนดความคิดของมนุษย์ เป็นความเจริญอย่างบ้าคลั่ง ที่ยิ่งเจริญมาเพียงไร ความเจริญนั้นก็จะกลับกลายเป็นเครื่องมือของอาชญากรรมมาทำลายความสงบสุขและความสันติสุขของสังคม
            เรื่องสั้นเรื่องนี้กระตุ้นให้ผู้อ่าน ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีการใช้ชีวิตมาเป็นความพึงพอใจในสิ่งที่ตน      มีและเป็นอยู่ ถ่อยห่างความเจริญทางวัตถุ เพื่อชะลอให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ให้ดำเนินอย่างช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทบทวนวิถีเก่าที่เคยเป็นอยู่ แต่เดิมแม้ไม่มีไฟฟ้า ก็หุงข้าวได้ด้วยฟืน ตักน้ำได้จากบ่อ พอมีไฟฟ้า ก็ต้องใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้า ต้องหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า ต้องมีโทรทัศน์วิทยุ ที่บรรจุรายการกิเลสเพื่อยั่วยุให้จิตใจของมนุษย์สร้างกิเลสเหล่านั้นขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตนอย่างไม่สิ้นสุดและกระตุ้น       ให้มนุษย์พึงระลึกไว้เสมอว่า
ความเจริญที่ควบคุมไม่ได้ คืออันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์”  

บรรณานุกรม        

กนกพงศ์  สงสมพันธุ์ราหูอมจันทร์ Vol.1 กีต้าร์ที่หายไป. สำนักพิมพ์นาคร, 2549

 


x

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น